งานจดหมายเหตุของประเทศไทย มีประวัติความเป็นมาสืบย้อนขึ้นไปได้ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อย โดยอาศัยตามข้อทรงสันนิษฐานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า "เรื่องจดหมายเหตุมีธรรมเนียมเก่าเป็นหน้าที่ของมหาดเล็กจะต้องจดบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ เก็บไว้ในหอศาสตราคม และงานจดหมายเหตุในราชสำนักก็ยังเป็นประเพณีสืบต่อมาหลายสมัย ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฎหลักฐานเรื่องการจัดงบประมาณกรม พระอาลักษณ์ เมื่อ ร.ศ. 115 ขอรับพระราชทานยกการบันทึกเหตุการณ์ประจำวันรวมกับราชกิจจานุเบกษายกเป็น กองจดหมายเหตุ ใน ร.ศ. 118 ปรากฏหลักฐานประกาศตั้งตำแหน่งข้าราชการกรมรัฐมนตรีและกรมพระอาลักษณ์ มีหลวงนรราชจำนง ดำรงตำแหน่งปลัดกรม ยังคงปรากฏมีกองจดหมายเหตุอยู่"
ส่วนหอจดหมายเหตุ ในความหมายที่เป็นหน่วยงานเก็บเอกสารไว้เป็นเอกสารจดหมายเหตุ ตรงกับคำว่า ARCHIVES ของภาษาอังกฤษ
มิใช่เพียงแต่หมายถึงการจดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันที่เกิดขึ้นแล้วเก็บไว้นั้นเริ่มในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นความสำคัญของหนังสือราชการเป็นอย่างยิ่งและมีพระราชกระแสให้นำเอกสารสำคัญไปเก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุ ดังตัวอย่างพระราชกระแสที่จะอัญเชิญต่อไปนี้ "เรื่องตราเป็นอันได้ความถูกต้องตามที่พระยามหาอำมาตยแจ้งความ แต่มีความเสียใจที่เปนตราแกะใหม่ทั้ง 2 ดวงรุ่นเดียวกันกับนารายน์ทรงราหู ตราเก่าเป็นจะหายหกตกหล่นเพราะเจ้าแผ่นดินไม่ได้อยู่ติดเมืองสักคนหนึ่งศุภอักษรนี้อ่านคันใจเต็มที เพราะเจ้าใจโดยมาก ด้วยเป็นคำมคธคำไทยเจืออยู่แต่คำเขมรไม่เข้าใจเลย ขอให้ล่ามเขมรเขียนอักษรขอมบรรทัดหนึ่ง อักษรไทยอ่านเปนสำเนียงเขมรบรรทัดหนึ่ง คำแปลภาษาเขมรเขียนลงไว้ใต้คำเขมรที่เขียนอักษรไทย หนังสือชนิดนี้ควรจะเข้าอาไคฟ ขอให้เก็บให้จงดี"
การดำเนินงานจดหมายเหตุในระยะแรกมีขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2459 เป็นแผนกจดหมายเหตุอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ มีเอกสาร 2 ประเภท คือ เอกสารจดหมายเหตุในอดีตได้มาจากหนังสือที่หอพระสมุดวชิรญาณมีอยู่เดิม ส่วนที่หาเพิ่มได้มาจากหนังสือท้องตราและใบบอกราชการหัวเมืองตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ขึ้นไป ขอจากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงต่าง ๆ ส่วนเอกสารจดหมายเหตุในปัจจุบันให้กระทรวงต่าง ๆ ส่งบรรดาคำสั่ง ข้อบังคับ หรือรายงานที่กระทรวงนั้น ๆ จัดพิมพ์ขี้นมาให้หอพระสมุดวชิรญาณเก็บรักษาไว้ ท่านตรัสว่า "เราหาหนังสือหลักฐานทางราชการในสมัยก่อน ๆ ลำบากอยู่แล้ว ฉะนั้น ถ้าเริ่มต้นเสียแต่บัดนี้ ในเวลาอีก 100 - 200 ปี เด็ก ๆ จะแต่งหนังสือเรื่องอะไรก็จะหาหลักฐานได้จากหอนี้ ไม่ต้องลำบากเหมือนคนชั้นพ่อ" ข้าพเจ้าทูลถามว่า "จะเอาหนังสือมาจากไหน" ท่านตอบว่า "สั่งไปตามกระทรวงว่าหนังสืออะไรที่พ้น 25 ปี แล้วให้ส่งเข้าหอนี้ เราจ้างเด็กผู้หญิง (เพราะรายจ่ายต่ำด้วยไม่ใช่หัวหน้าครอบครัว) ด้วยเงินเดือนน้อย มาเป็นผู้เลือกปี เลือกเรื่อง เข้าแฟ้ม เรื่อยไป ในไม่ช้าเราก็จะได้เรื่องติดต่อกันมาเป็นหลักฐาน"
นอกจากนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ผู้ทรงสนพระทัยการศึกษาค้นคว้าวิจัยได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญของหนังสือราชการว่า จะเป็นเอกสารข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ทรงห่วงใยว่าเอกสารเหล่านี้จะสูญหาย จึงทรงดำริจัดตั้งหอจดหมายเหตุและหอรูปขึ้น เพื่อเก็บรักษาเอกสารที่มีอายุเกิน 25 ปี และรูปถ่ายไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า ดังปรากฏในพระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล ว่า งานจดหมายเหตุเป็นที่ยอมรับในความสำคัญ จึงจัดตั้งหน่วยงานขึ้นรับผิดชอบดำเนินการโดยเฉพาะ
เมื่อมีประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมศิลปากร ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2495 ตั้งกองจดหมายเหตุแห่งชาติขึ้น การดำเนินงานจดหมายเหตุได้พัฒนาและขยายขอบข่ายการปฏิบัติงานออกไปอย่างกว้างขวาง มีการปรับปรุงโครงสร้างขององค์กรให้ทันสมัย เพื่อก้าวไปสู่การดำเนินงานที่ตรงตามมาตรฐานวิชาการจดหมายเหตุสากล พร้อมทั้งรับหอภาพยนตร์แห่งชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานจดหมายเหตุแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2530 (ภายหลังแยกตัวเป็นองค์การมหาชน) รวมทั้งขยายเครือข่ายหอจดหมายเหตุแห่งชาติในส่วนภูมิภาค ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา ปัจจุบัน จากนโยบายการปฏิรูประบบราชการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ มีฐานะเป็นสำนักหนึ่งในกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม