สยามมกุฎราชกุมาร
การสถาปนาพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร แก่พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าเป็นรัชทายาท เริ่มเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงพระราชดำริเกี่ยวแก่การสถาปนารัชทายาทว่า ในกฎมณเฑียรบาลที่พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ผู้ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา ตั้งไว้เมื่อจุลศักราช 722 ได้จัดลำดับพระบรมวงศานุวงศ์ ยกพระบรมราชโอรสอันเกิดด้วยพระอรรคมเหสีเป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า มีพระเกียรติยศยิ่งใหญ่กว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง มิได้มีตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาอุปราชฝ่ายหน้าแต่อย่างใด จนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตั้งพระราชกำหนดศักดินาพลเรือน เมื่อจุลศักราช 828 และทรงประดิษฐานพระราชโอรสไว้ในที่พระมหาอุปราชโดยตามพระราชกำหนดศักดินาพลเรือนนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอซึ่งได้เฉลิมพระราชมณเฑียรเป็นพระมหาอุปราช ทรงศักดินาแสนหนึ่ง แต่ในรัชกาลต่อมาก็มิได้ตั้งตำแหน่งพระมหาอุปราชทุกครั้งทุกแผ่นดินเสมอไป
ครั้นเมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้ตั้งตำแหน่งพระมหาอุปราชทุกรัชกาล แต่มิได้มีคงที่อยู่สำหรับแผ่นดิน เป็นตำแหน่งสำหรับพระราชทานบำเหน็จความชอบแก่พระบรมวงศ์ผู้มีความชอบยิ่งใหญ่เฉพาะพระองค์ เมื่อพระมหาอุปราชผู้นั้นทิวงคตแล้ว ไม่มีพระบรมวงศ์ผู้ใดมีความชอบเสมอเหมือน ก็มิได้มีการแต่งตั้งพระมหาอุปราชอีก เว้นว่างอยู่ตลอดรัชสมัย เป็นเช่นนี้มาทุกรัชกาล ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระเกียรติยศแก่ตำแหน่งพระมหาอุปราชยิ่งใหญ่ขึ้นกว่าแต่ก่อน และมีพระนามคล้ายพระเจ้าแผ่นดิน ประกอบกับกรุงสยามเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศซึ่งมีธรรมเนียมยศพระบรมวงศานุวงศ์แตกต่างกับกรุงสยาม ทำให้ยากที่จะเข้าใจ จึงแปลตำแหน่งพระมหาอุปราชเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ 2 เพื่อจะให้เข้าใจง่าย ทำให้ชาวต่างประเทศพากันเข้าใจผิดเช่นนี้ จนยากที่จะชี้แจง ด้วยเหตุผลประการเหล่านี้จึงควรยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช และให้ใช้ตำแหน่งยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งเรียกว่าสมเด็จหน่อพุทธเจ้า ซึ่งได้ตั้งไว้ตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 และเป็นตำแหน่งที่สอดคล้องกับนานาประเทศเป็นที่เข้าใจได้ชั้นเจน สืบต่อไปแทน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้เลิกธรรมเนียมตั้งพระมหาอุปราชฝ่ายหน้า ซึ่งมีในพระราชกำหนดตำแหน่งศักดินาพลเรือน จุลศักราช 828 (พุทธศักราช 2009) แล้วใช้ตามพระราชกำหนดกฎมณเฑียรบาล จุลศักราช 722 (พุทธศักราช 1903)
ภายหลังการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิเศษไชยชาญเมื่อพุทธศักราช 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีก ต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และทรงสถาปนาตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมารเพื่อเป็นองค์รัชทายาทแทน
นับแต่นั้นมา ได้มีการสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร 3 พระองค์ คือ
1. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สถาปนาเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ อดิศวรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร บรมมกุฎนเรนทรสูริย์ขัตติยสันตติวงษ อุกฤษฐพงษวโรภโตสุชาติ ธัญญลักษณวิลาศวิบุลยสวัสดิ ศิริวัฒนวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร” เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2429 เมื่อพระชนมายุ 9 พรรษา
2. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สถาปนาเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร” เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2437 เมื่อพระชนมายุ 16 พรรษา ต่อมาเสด็จสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
3. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สถาปนาเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิติยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร” เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2515 เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ต่อมาเสด็จสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งจะแบ่งการนำเสนอ เรื่อง สยามมกุฎราชกุมาร ออกเป็น 3 ตอนหลัก ได้แก่
ตอนที่ 1 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
ตอนที่ 2 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร
ตอนที่ 3 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร
-------------------------------------------------------------------------
ตอนที่ 1 สยามมกุฎราชกุมาร: สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกคือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีขาล สัมฤทธิศก จ.ศ. 1240 ตรงกับวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2421 มีพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมพระราชมารดา ได้แก่
1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์
2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารี
3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์
4. สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
5. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี
6. สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

พระบรมรูปทรงฉายกับ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สันนิษฐานว่าจะทรงฉายในปี พ.ศ. 2423 - 2424

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร
1.1 พระราชพิธีลงสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีลงสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธย สถาปนาพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 9 พรรษา เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2429 มีศักดินาแสนหนึ่ง ได้ทรงกำกับกรมมหาดเล็ก และมีพระนามตามจารึกสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ อดิศวรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร บรมมกุฎนเรนทรสูริย์ขัตติยสันตติวงษ อุกฤษฐพงษวโรภโตสุชาติ ธัญญลักษณวิลาศวิบุลยสวัสดิ ศิริวัฒนวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
ฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารมหาดเล็ก ทรงสะพายสายมหาวราภรณ์ (มหาวชิรมงกุฎ) คาดสายรัดพระองค์ และสะพายสายคันชีพทับสายสะพาย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงษ์ กรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช เป็นอธิบดีอำนวยการพระราชพิธีมหาพิชัยมงคลสรงสนาน เฉลิมพระปรมาภิไธย ในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าราชกุมารพระองค์ใหญ่ และทรงพระราชดำริว่า การพระราชพิธีครั้งนี้ เป็นการพิธีพิเศษใหญ่ยิ่ง สมควรจะมีการเฉลิมพระเกียรติยศต่อการพระราชพิธีให้สมควรแก่กาลสมัยด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงษ์ กรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช ทรงคิดกำหนดการเฉลิมพระเกียรติยศต่อไป
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงษ์ กรมพระภาณุพันธุวรเดชได้ทรงคิดให้มีการเลียบพระนคร เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ออกประทับพลับพลาหน้าท้องสนามไชย พระราชทานเหรียญที่ระลึกในการพระราชพิธี การแห่เรือกระบวนพยุหยาตราในท้องน้ำ แล้วแข่งเรือคล้ายกับพระราชพิธีกาศวยุช

เหรียญที่ระลึก ในการพระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระปรมาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารจุลศักราช 1248
ในการทำแพลงสรงนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าอลังการ ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ เป็นนายช่างทำแพลงสรง และเป็นนายงานกำกับช่างแต่งตัวไม้สลักลวดลายเครื่องประดับพระมณฑปและเครื่องพิธีต่าง ๆ เช่น พระแท่นแว่นฟ้าที่สรงสนาน 3 ชั้น หลักชัย บันไดนาค 3 บันได ซุ้มประตูทรงยอดมงกุฎ 3 ซุ้ม พลับพลาทองหนึ่งหลัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยามหามนตรี (เวก) เจ้ากรมพระตำรวจในขวา เป็นนายงานทำโครงแพและเรือแบกมณฑป 3 ลำ ปลูกพลับพลาสำหรับพระสงฆ์นั่งถวายชัยมงคลเวลาลงสรง โรงที่พักพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายใน 2 หลัง

แพลงสรง ในพระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระปรมาภิไธยของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
พุทธศักราช 2429 (รัตนโกสินทร์ศก 105)
ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงคราม (ทัด) เป็นนายช่างปลูกพลับพลาและโรงประชุมสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่หน้าท้องสนามไชย นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทสำหรับตั้งการพระราชพิธี รวมทั้งตกแต่งซ่อมแซมเรือกระบวน เครื่องต้นสำหรับทรงแห่สมโภช และให้มีศุภอักษร ท้องตราถึงหัวเมืองประเทศราช เมือง เอก โท ตรี จัตวา ให้ทราบการกำหนดพระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระปรมาภิไธยครั้งนี้ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้านาย พระยา พระ หลวง ผู้ว่าราชการเมือง กรมการผู้ใหญ่ เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในการพระราชพิธีให้ทันกำหนดพร้อมกันทุกหัวเมือง แต่ที่บ้านเมืองอยู่ไกล ที่เข้ามาภายหลังการพระราชพิธีก็มีบ้าง เมื่อหัวเมืองเข้ามาถึงเมื่อใด ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนำเฝ้าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทุกครั้งทุกเมือง
พระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระปรมาภิไธย ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าราชกุมารพระองค์ใหญ่ หรือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เดิมทีมีกำหนดงาน 7 วัน ต่อมาจึงกำหนดเพิ่มอีก 2 วันรวม 9 วัน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ลงแพลงสรง
ในพระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระปรมาภิไธย

แพลงสรง ในพระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระปรมาภิไธยของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพุทธศักราช 2429 (รัตนโกสินทร์ศก 105)

ขบวนแห่ในงานรับพระสุพรรณบัฎ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พุทธศักราช 2429

เฉลิมพระปรมาภิไธย สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศที่พลับพลาหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ พุทธศักราช 2429

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร
----------------------------------------------------
โปรดติดตามตอนต่อไปในตอนที่ 1.2 พระราชพิธีโสกันต์ ทรงผนวช และพระราชกรณียกิจ
ผู้เรียบเรียง นางสาวณัฏฐา กล้าหาญ นักจดหมายเหตุชำนาญการ และนางสาวพุธิตา ขำบุญลือ นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ
คณะทำงานด้านการจัดการองค์ความรู้ของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
อ้างอิง
กรมศิลปากร. คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย คณะอนุกรรมการพิจารณาจัดทำหนังสือประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย. ประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชโอรส พระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 2555.
กรมศิลปากร. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สมุดภาพจดหมายเหตุพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุวราชสกุลวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. 2558.
ภาณุพันธุวงศ์วรเดช, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา, ผู้เรียบเรียง. จดหมายเหตุพระราชพิธีลงสรง สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ในรัชกาลที่ 5. กรมศิลปากร: กรุงเทพฯ, 2513.
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 3 แผ่นที่ 22 วันอาทิตย์ เดือนสาม ขึ้นเจ็ดค่ำ ปีจอ อัฐศก 1248 หน้า 368 - 370 เรื่องคำประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย.
ภาพ:
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนบุคคล นายสมิทธิ เกตุทัต ภ.สบ.11/5 ภาพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนบุคคล นายสมิทธิ เกตุทัต ภ.สบ.11/6 ภาพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภ.003 หวญ.45/7 ภาพกระบวนแห่ในงานรับพระสุพรรณบัฎ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภ.003 หวญ.45/9 ภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ลงแพลงสรง ในพระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระปรมาภิไธย.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภ.003 หวญ.45/10 ภาพแพลงสรง ในพระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระปรมาภิไธยของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภ.003 หวญ.45/17 ภาพเฉลิมพระปรมาภิไธย สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ที่พลับพลาหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ (2) ภ.004 หวญ.40/4 ภาพเหรียญที่ระลึก ในการพระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระปรมาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร จุลศักราช 1248.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ 23M00027 ภาพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร.
#องค์ความรู้จากจดหมายเหตุ