ตอนที่ 2 สยามมกุฎราชกุมาร: สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร
2.1 ปฐมบท: เสด็จพระราชสมภพ - การแต่งตั้งตำแหน่งมกุฎราชกุมาร
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ
และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ฉายพระรูป ณ บันไดทางขึ้นพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้นสองค่ำ ปีมะโรง โทศก จ.ศ. 1242 ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 มีพระเชษฐภคินี พระขนิษฐภคินี และพระอนุชาร่วมพระราชมารดา 7 พระองค์ ได้แก่
1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย ประไพพรรณพิจิตร นริศราชกุมารี กรมพระเทพนารีรัตน์
2. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรงค์
4. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
5. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
6. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
7. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย
8. สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ซึ่งมีพระชนมายุเป็นที่สองรองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เจริญวัยสมควรได้รับพระสุพรรณบัฏและได้รับพระเกียรติยศเป็นชั้นที่สองรองสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งการพระราชพิธีพระราชทานพระสุพรรณบัฏ พร้อมกระบวนแห่ตามสมควรแก่พระเกียรติยศ สถาปนาพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษยบรมนราธิราช จุฬาลงกรณ์นารถราชวโรรส มหาสมมติขัตติยพิสุทธิ บรมมกุฎสุริยสันตติวงษ์ อดิศัยพงษวโรภโตสุชาติ คุณสังกาศวิมลรัตน ทฤฆชนมสวัสดิ ขัตติยราชกุมาร ทรงศักดินา 50000 เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2431 และตั้งการพระราชพิธีโสกันต์ ในวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2435
ต่อมาเมื่อพระชนมายุ 12 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี เสด็จไปทรงศึกษาวิชาทหารบกที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิสต์ (Royal Military Academy Sandhurst) ประเทศอังกฤษ และเข้าศึกษาวิชาการด้านพลเรือนต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระหว่างทรงศึกษาอยู่นั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ฉศก จุลศักราช 1256 ตรงกับวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2437
(จากซ้ายไปขวา) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร
ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี พระราชโอรสพระองค์โตในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชเทวี และพระมาตุจฉาของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร” ด้วยเหตุที่ “...พระมารดาทั้งสองสนิจเกี่ยวดองกัน ประสูตรมาในที่อันเดียวกัน แลได้ประคับประคองถนอมเลี้ยงดูจนพระชนม์เติบใหญ่มาพร้อมด้วยกันฉนี้แล้ว ควรที่จะเหนได้ว่าร่วมพระมารดา และถ้าไม่มีเหตุที่มาขัดขวางเปนปรปักษยุยง ให้เหนไปอื่นไซ้ พระราชโอรสทั้งหลาย คงจะมีสามัคคีรส ทรงเหนว่าเปนวงศเดียวสกุลเดียวชาติเดียว จนถึงพระครรภ์เดียวกันได้ฉะนี้ ส่วนข้าพระพุทธเจ้าได้ถือมั่นในความที่คิดเหนดังนี้ว่า เปนราคของสามัคคีอันใหญ่ในปัจจุบันแลอนาคต แลได้เพททูล ทูลกระหม่อมทุก ๆ พระองค์ที่พอทรงเข้าใจความได้ว่า ควรให้เคารพกันฉันท์แก่ตามแก่ อ่อนตามอ่อนฉนี้...” ดังปรากฏในลายพระหัตถ์พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 113 (พ.ศ. 2437) มีไปถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้มีพระราชหัตถเลขาตอบ ลงวันที่ 28 มีนาคม ร.ศ. 113 (พ.ศ. 2437) ความว่า “...การที่รู้น้ำใจกันแลกันจนเธอสามารถที่จะกล่าวได้ก่อนการที่รู้เปนแน่นั้น เปนที่ให้เกิดความยินดีแก่ฉันด้วยได้เหนชัดว่า เธอเปนผู้หนึ่งซึ่งได้รู้น้ำใจของฉันโดยเลอียด ตลอดถูกต้อง...”
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศทรงประชวรและสวรรคต
ตั้งสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมาร
สถาปนามกุฎราชกุมาร
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศสถาปนาพระเกียรติยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี ให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2437 และในวันเดียวกัน ได้ทรงมีพระราชโทรเลขเรื่องการแต่งตั้งตำแหน่งมกุฎราชกุมารไปถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งกำลังทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ
พระราชโทรเลขพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเสมอใจราชเป็นข้าหลวงอัญเชิญประกาศสถาปนาพระเกียรติยศ เครื่องยศต่าง ๆ สำหรับมกุฎราชกุมาร สัญญาบัตรและเครื่องยุทธาภรณ์ตำแหน่งยศนายร้อยโท ทหารบก กรมทหารราบมหาดเล็ก และตำแหน่งนายพันเอกพิเศษ ในกรมทหารราบล้อมวัง ไปถวายแด่พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ เพื่อจะได้มอบสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ณ ประเทศอังกฤษ โดยออกเดินทางจากประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2437 พร้อมทั้งมีพันโทพระยาราชวัลภานุสิษฐ์ องคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และนายร้อยเอกหลวงสรสิทธยานุการ ซึ่งจะเป็นราชองครักษ์ประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เดินทางไปด้วย
โปรดติดตามต่อในตอนที่ 2.2 ปัจฉิมบท: การสถาปนาพระฐานันดรยศมกุฎราชกุมาร - เถลิงถวัลยราชสมบัติ
ผู้เรียบเรียง นางสาวณัฏฐา กล้าหาญ นักจดหมายเหตุชำนาญการ และนางสาวพุธิตา ขำบุญลือ นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ
คณะทำงานด้านการจัดการองค์ความรู้ของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
----------------------------------------------------
อ้างอิง:
กรมศิลปากร. คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย คณะอนุกรรมการพิจารณาจัดทำหนังสือประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย. ประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชโอรส พระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 2555.
กรมศิลปากร. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สมุดภาพจดหมายเหตุพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุวราชสกุลวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. 2558.
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 5 แผ่นที่ 47 วันเสาร์ เดือนสาม แรมแปดค่ำ ปีชวด สัมฤทธิศก 1250 หน้า 415 เรื่องกำหนดการรับพระสุพรรณบัตรเฉลิมพระนาม.
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 5 แผ่นที่ 50 วันเสาร์ เดือนสี่ ขึ้นสิบห้าค่ำ ปีชวด สัมฤทธิศก 1250 หน้า 437 เรื่องการรับพระสุพรรณบัตรเฉลิมพระนาม.
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 5 แผ่นที่ 50 วันเสาร์ เดือนสี่ ขึ้นสิบห้าค่ำ ปีชวด สัมฤทธิศก 1250 หน้า 440 เรื่องคำประกาศการรับพระสุพรรณบัตร.
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 9 แผ่นที่ 38 วันที่ 18 ธันวาคม รัตนโกสินทร์ศก 111 หน้า 318 เรื่องกำหนดวันพระราชพิธีมหามงคลการโสกันต์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธและโสกันต์พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 11 แผ่นที่ 45 วันที่ 3 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 113 หน้า 383 เรื่องทรงตั้งองคมนตรีและพระราชทานสัญญาบัตร เครื่องราชอิสริยาภรณ์
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงวัง ร.5ว 22/3 เรื่องสถาปนามกุฎราชกุมาร (12 ก.พ. 113 - 18 ก.ย. 114)
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ สบ16.15/6 เรื่องสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศทรงประชวรและสวรรคต (6 ม.ค. - 5 ก.พ. 2437)
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ สบ16.15/7 เรื่องตั้งสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมาร (5 ก.พ. 2437 - 7 มิ.ย. 2438)
ภาพ :
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ 23M00001 ภาพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภ.001 หวญ26/27 ภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ฉายพระรูป ณ บันไดทางขึ้นพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ 22M000075 ภาพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
#องค์ความรู้จากจดหมายเหตุ