วันสถาปนาลูกเสือ : พระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวลูกเสือที่แก้ไขใหม่ พ.ศ.2457

หวญ.47/15 ฟิล์มกระจก ชุดหอพระสมุดวชิรญาณ เรื่อง เสือป่าและลูกเสือ ถ่ายรูป ณ อนุสาวรีย์ย่าแหล พระราชวังสนามจันทร์
เนื่องในทุกวันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันที่กิจการลูกเสือได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากองลูกเสือขึ้น ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจในคราวที่พระองค์ทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ได้ทรงรับรู้เรื่องราวของลอร์ดบาเดน เพาเวลล์ (Lord Robert Baden Powell) ผู้ก่อตั้งกิจการลูกเสือใน พ.ศ.2450 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมคนไว้เป็นทหาร และฝึกให้คนบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม ด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นถึงประโยชน์ของลูกเสือในกาลข้างหน้า ภายหลังเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ.2453 พระองค์ได้ทรงก่อตั้งกองเสือป่า ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2454 เพื่อฝึกอบรมข้าราชการพลเรือนและชาวบ้าน ให้เรียนรู้วิชาการด้านทหาร เพื่อเป็นกำลังสำรองในยามเกิดศึกสงคราม จากนั้น 2 เดือนให้หลัง ทรงก่อตั้งกองลูกเสือ เพื่อฝึกเด็กปฐมวัยให้รู้จักหน้าที่เช่นเดียวกับกองเสือป่า
ด้วยกิจการทั้ง 2 มีความคล้ายคลึงกัน ต่างกันแต่เพียงวัยของผู้เข้ารับการฝึก ภารกิจและเครื่องแต่งกาย จึงมีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่ในบางครั้งผู้ที่ได้รับการฝึกวิชาลูกเสือเพื่อเป็นผู้กำกับกองลูกเสือหรือรองผู้กำกับนั้น อาจเป็นสมาชิกกองเสือป่าด้วยเช่นกัน ทำให้มีหลายครั้งที่มีการหยิบยืมเครื่องแต่งกายกองเสือป่ามาใส่แทนลูกเสือ ต่อมาใน พ.ศ.2457 ได้มีการปรับปรุงกำหนดเครื่องแต่งกายของลูกเสือให้มีความชัดเจนมากขึ้น มีการกำหนดเครื่องแต่งกายของบรรดาผู้กำกับและรองผู้กำกับลูกเสือให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเป็นการรักษาระเบียบวินัยของกองเสือป่าและลูกเสือตามความพระประสงค์ของรัชกาลที่ 6 โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดเครื่องแต่งกายกองลูกเสือ เรื่อง พระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวลูกเสือที่แก้ไขใหม่ พ.ศ.2457 ดังความต่อไปนี้
1. บรรดารองผู้กำกับลูกเสือและผู้กำกับซึ่งตามความในพระราชกำหนดเดิมได้บัญญัติไว้ว่า บรรดารองผู้กำกับหรือผู้กำกับที่เป็นสมาชิกเสือป่า อนุญาตให้ใช้หมวกและเข็มขัดของเสือป่าประกอบกับเครื่องแต่งกายกองลูกเสือได้นั้น ให้ยกเลิกข้อความที่กล่าวไว้นี้ไม่ใช้อีกต่อไป เพราะฉะนั้นห้ามมิให้รองผู้กำกับและผู้กำกับใช้เครื่องแต่งกายเสือป่าประกอบกับเครื่องลูกเสืออีกต่อไป อนึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มเติมชั้นยศรองผู้กำกับและผู้กำกับจัดเป็น 3 ชั้น คือ เอก โท ตรี และให้ขนานนามใหม่ตามชั้นยศ ดังนี้
รองผู้กำกับตรี รองผู้กำกับโท รองผู้กำกับเอก ส่วนผู้กำกับก็ให้ขนานนามตามชั้นยศเช่นเดียวกับรองผู้กำกับ คือ ผู้กำกับตรี ผู้กำกับโท ผู้กำกับเอก
ส่วนเครื่องหมายชั้นยศนั้นให้ทำเป็นรูปดอกจันทร์ขนาดกว้าง 2 เซนติเมตร ปักด้วยไหมขาวที่ปลอกแขน เครื่องหมายตามกำหนดชั้นยศ คือ ชั้นตรีมีดอกจันทร์ 1 ดอก ชั้นโทมีดอกจันทร์ 2 ดอก ชั้นเอกมีดอกจันทร์ 3 ดอก ตามตัวอย่างที่กรมเสนาธิการเสือป่าได้ทำแบบขึ้นไว้ อนึ่งเมื่อได้ใช้เครื่องหมายยศนี้แล้ว ให้เลิกใช้อักษรนามมณฑลที่ติดกับปลอกแขนเครื่องหมายนั้นไม่ใช้ต่อไป
2. บรรดาผู้ตรวจการใหญ่ ผู้ตรวจการมณฑล รองผู้ตรวจการ ซึ่งตามที่ได้กำหนดไว้ เดิมให้ใช้เครื่องแต่งกายอย่างแผนกลูกเสือนั้น ให้ยกเลิกเครื่องแต่งกายที่ได้กำหนดไว้เดิมนั้นไม่ใช้อีกต่อไป เพราะฉะนั้น ให้บรรดาผู้ตรวจการใหญ่ ผู้ตรวจการมณฑล รองผู้ตรวจการ เปลี่ยนเป็นใช้เครื่องแต่งกายเสือป่าอย่างเดียวกับเครื่องเสือป่าในกองเสนารักษาดินแดนที่ตนตั้งภูมิลำเนา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรดาผู้ตรวจการใหญ่ ผู้ตรวจการมณฑล รองผู้ตรวจการ ได้มียศในคณะเสือป่าสืบไป เมื่อผู้ใดจะควรมียศชั้นใด ก็ให้เป็นหน้าที่สภานายกกรรมการจัดการลูกเสือในมณฑลต่างๆ จะดำริ แล้วทำรายงานเสนอไปยังกรมปลัดเสือป่า เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตชั้นยศ ซึ่งสมควรแก่คุณวุฒิความสามารถประกอบด้วยความดีความชอบผู้นั้นๆ จะเป็นได้
แม้ในปัจจุบันกองเสือป่าจะไม่มีอยู่อีกแล้ว แต่แนวคิดการฝึกราษฎรให้เป็นกำลังสำรองได้ปรากฎในกิจการยุวชนทหาร นักศึกษาวิชาทหาร และกองอาสารักษาดินแดน ส่วนกิจการลูกเสือนั้น เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติให้ทรัพย์สินกองเสือป่าตกเป็นของคณะลูกเสือแห่งชาติ พ.ศ.2482 ทรัพย์สินของกองเสือป่าก็ไปอยู่ในความดูแลของคณะลูกเสือแห่งชาติทั้งหมด ทำให้มีเพียงกิจการลูกเสือที่ดำเนินการสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ผู้เรียบเรียง นายอมรินทร์ ณ พิบูลย์ นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ คณะทำงานด้านการจัดการองค์ความรู้ของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
อ้างอิง :
เอกสาร
ราชกิจจานุเบกษา, “ข้อบังคับเครื่องแต่งตัวสมาชิกกองเสือป่า”, เล่ม 28, 14 พฤษภาคม ร.ศ.130, หน้า 21 – 29.
ราชกิจจานุเบกษา, “ข้อบังคับเครื่องแต่งตัวสมาชิกกองเสือป่า”, เล่ม 28, 18 มิถุนายน ร.ศ.130, หน้า 106 – 115.
ราชกิจจานุเบกษา, “แจ้งความกองเสือป่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กองเสือป่าในกรุงแลหัวเมืองมีผู้บังคับการพิเศษ”, เล่ม 29, 28 เมษายน ร.ศ.131, หน้า 244 – 245.
ราชกิจจานุเบกษา, “พระราชบัญญัติให้ทรัพย์สินกองเสือป่าตกเป็นของคณะลูกเสือแห่งชาติ พุทธศักราช 2482”, เล่ม 56, 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2482, หน้า 1523 – 1525.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ ศธ.36.2/3 เรื่องพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวลูกเสือที่แก้ไขใหม่ (18 ส.ค. – 14 ก.ย. 2457).
ภาพ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ หวญ.47/15 ภาพเสือป่าและลูกเสือ ถ่ายรูป ณ อนุสาวรีย์ย่าเหล พระราชวังสนามจันทร์
#องค์ความรู้จากจดหมายเหตุ

เครื่องหมายชั้นยศ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ ศธ.36.2/3 “เรื่องพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวลูกเสือที่แก้ไขใหม่” (18 ส.ค. – 14 ก.ย. 2457)

ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวลูกเสือ พระพุทธศักราช 2457
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ ศธ.36.2/3 “เรื่องพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวลูกเสือที่แก้ไขใหม่” (18 ส.ค. – 14 ก.ย. 2457)