ประกาศเปลี่ยนรัตนโกสินทรศกใช้พุทธศักราช
เผยแพร่เมื่อ: 29 ก.ย. 59จำนวนผู้เข้าชม:9222
การนับวันเดือนปีในราชการนั้นมีหลักฐานเอกสารจดหมายเหตุตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ศึกษาได้จากเอกสารจดหมายเหตุ ร.4 .1 ก/8 เรื่องที่ 29 วันขึ้นปีใหม่ของไทย วันสงกรานต์) ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การนับวันเดือนปีใช้การนับตามจันทรคติ โดยอ้างอิงจากตำราสุริยาตร ซึ่งปีปกติ ปีอธิกมาศ ปีอธิกวาร คลาดเคลื่อนไม่สมเหตุสมผล และการนับวันเดือนปีนั้นยากที่จะเข้าใจได้ จึงมีพระราชดำริว่า วิธีนับวันเดือนปีที่ดีที่สุดควรประกอบด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ ให้ถูกต้องใกล้ชิดกับฤดูกาล ให้มีประมาณเสมอไม่มากไม่น้อยกว่ากันนัก และให้คนทั้งปวงรู้ได้ง่าย จึงมีประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่ออกมากำหนดเปลี่ยนวิธีการนับวันเดือนปีตามอย่างสุริยคติ โดยหนึ่งในข้อกำหนดนั้นให้ใช้ศักราชตามปีตั้งแต่ตั้งกรุงเทพมหานคร เรียกว่า รัตนโกสินทรศก (ศึกษาได้จากเอกสารจดหมายเหตุ ร.5 รล 5/3 ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่) ต่อมาพระบาทสเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีกระแสพระราชดำริให้ออกประกาศเปลี่ยนวิธีใช้ศักราชใหม่ ตามความร่างประกาศวิธีนับวันเดือนปีในตอนหนึ่งว่า “อนึ่งทรงพระราชดำริห์เหนว่า ปีรัตนโกสินทรศกที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เปนการสดวกดีสำหรับใช้ในการประจุบันแลอนาคตได้แล้ว แต่การในอดีตภาคนั้น ถ้าจะบังคับให้ใช้ก็จะกระทำให้เข้าใจยากอยู่ที่จะต้องนับปีทวนถอยหลังเปนปฏิโลมเรียกว่าก่อนรัตนโกสินทรศก แลทรงพระราชดำริห์เหนว่าพระพุทธศักราชนั้น ได้เคยใช้ในราชการสำคัญๆมามิได้ขาด ดังเช่นมีในประกาศเปนบาญพแนกราชการสำคัญ เปนแต่ยังหาได้บังคับให้ใช้ในราชการทั่วไปไม่ ถ้าจะให้ใช้พระพุทธศักราช แทนปีรัตนโกสินทรศกแล้ว ก็จะเปนการสดวกแก่การอดีตในพงษาวดารของกรุงสยามมากยิ่งขึ้น” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีประกาศวิธีนับวันเดือนปี โดยกำหนดเปลี่ยนรัตนโกสินทรศกใช้พุทธศักราช ดังนี้
มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเดจพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้า สั่งว่า
วิธีนับวันเดือนปีในราชการ ซึ่งได้มีประกาศไว้แต่ในรัชกาลก่อน เรียกว่าประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่ ลงวันพฤหัสบดี เดือนสี่ แรมสิบสองค่ำ ปีชวดสัมฤทธิศก๒๑ จุลศักราช ๑๒๕๐ นั้น ทรงพระราชดำริห์เหนว่า เปนความประสงค์สำหรับที่จะใช้ให้เปนระเบียบเรียบร้อยดีอยู่แล้ว แต่ว่าดูเหมือนหนึ่งสำหรับที่จะใช้ในการอนาคตฝ่ายเดียว จึงได้กำหนดให้ใช้ปีรัตนโกสินทรศก แลแสดงวิธีใช้ปีอธิกสุร์ทินตามวิธีที่เรียกว่าปฏิทินอย่างใหม่ในยุโรปนั้นอย่างเดียว ฝ่ายการในอดีตนั้นหาได้กล่าวกำหนดลงไว้ไม่
วิธีนับวันเดือนปีในประเทศอันรุ่งเรืองแล้วทั้งหลายนั้น ที่มีเปนสำคัญใช้ทั่วไป นับว่ามีอยู่อยู่ ๒ อย่างๆ หนึ่งเรียกชื่อว่าปฏิทินยุเลียน ฤาปฏิทินอย่างเก่าก็เรียก ปฏิทินอย่างนี้มีกำหนดวันแลเดือนอย่างที่ประกาศให้ใช้อยู่ แต่ตั้งต้นปีในเดือนมกราคม ใช้ปีคฤสตศักราช แลมีอธิกสุร์ทินทุกสี่ปี เมื่อเวลาเอาเลข ๔ หารคฤสตศักราชได้ขาดตัวไม่มีเศษ ปฏิทินอย่างนี้มีประมาณปีหนึ่ง ๓๖๕ วันกับ ๖ ชั่วโมงถ้วน ปฏิทินอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า เกรกอเรียนปฏิทิน ฤาปฏิทินอย่างใหม่ ซึ่งได้ใช้ในยุโรปที่เมืองโรมเปนครั้งแรกตั้งแต่ปีคฤสตศักราช ๑๕๘๒ ฤาเมื่อพระพุทธศักราช ๒๑๒๕ มาจนทุกวันนี้ ปฏิทินอย่างใหม่นี้ ได้มีในประกาศซึ่งกล่าวมาข้างต้นนี้ให้ใช้อยู่แล้ว แลเกือบเหมือนกันกับปฏิทินอย่างเก่าทุกอย่างแปลกกันแต่เพียงเมื่อคฤสตศักราชครบร้อยหนึ่ง ฤาสองร้อย ฤาสามร้อยปี ซึ่งเลข ๔ หารขาดตัวแล้วนั้น ห้ามไม่ให้มีอธิกสุร์ทิน ต่อครบสี่ร้อยปีเมื่อใดจึงให้มีเมื่อนั้นอีก การที่ต้องมีปฏิทินอย่างใหม่แก้อย่างเก่าขึ้นใช้นี้ ก็เพราะเหตุที่จำนวนเวลาปีปฏิทินอย่างเก่ายาวกว่ากำหนดจำนวนเวลาสามัญสงกรานต์อยู่ประมาณปีละ ๑๑ นาที เมื่อการเปนอยู่อย่างนี้ ๑๓๑ ปีเศษก็จะเคลื่อนจากกำหนดฤดูกาลไปอย่างหนึ่ง จึงต้องคิดเลิกอธิสุร์ทินเสียให้พอตรงกัน แม้ว่าปฏิทินอย่างใหม่ซึ่งมีจำนวนเวลาปีละ ๓๖๕ วัน ๕ โมง ๔๙ นาที ๑๒ วินาที นี้ก็ยังเกินกว่าจำนวนเวลาสามัญสงกรานต์อยู่ประมาณปีละ ๒๓ วินาที แต่ว่าต่อเมื่อกาลล่วงไป ๓๓๒๐ ปีเศษจึงจะผิดกันถึงวันหนึ่งได้ ยังเปนเวลานานเกินอายุคนทุกวันนี้ที่จะต้องแก้ไชย เปนการสำหรับชนในอนาคตจะคิดแก้ต่อไป จึงหาได้มีกำหนดแก้ไขยไว้ใช้เล้วไม่ แต่กระนั้นก็ยังมีความคิดของผู้ที่ทราบกาลกำหนดนี้ว่าถ้าแม้จะแก้ไขยให้ถูกต้องต่อไปในอนาคตโน้นแล้ว เมื่อคฤสตศักราชพ้นครบสี่พันปีๆ ใด อันเปนปีตามวิธีอย่างใหม่นี้ให้มีอธิกสุร์ทินแล้ว งดอธิกสุร์ทินปีนั้นเสีย ก็ยังจะใช้ได้ตรงกับฤดูการไปอีกหลายหมื่นปี
ปฏิทินอย่างเก่ากับอย่างใหม่นี้ เมื่อคฤสตศักราช ๒๐๐ ปีเศษ ฤาจะกล่าวกำหนดปีลงให้แน่นอน คือตั้งแต่คฤสตศักราช ๒๐๐ จน ๒๙๙ ฤาพระพุทธศักราช ๗๔๓ จน ๘๔๒ ปีนั้นวันเดือนตรงกันทั้งสองอย่างไม่คลาศเคลื่อนกันจนวันเดียว ตั้งแต่กำหนดนี้นับต่อมา ฤาว่านับถอยหลังขึ้นไป วันอย่างใหม่ก็ย่อมมากกว่า ฤาน้อยกว่า อย่างเก่านั้น สามวันทุกสี่ร้อยปีตามที่จะนับต่อมาเปนอนุโลมฤาจะนับทวนหลังขึ้นไปเปนปฏิโลมฉนั้น
ปฏิทินอย่างใหม่นี้ไม่ได้ใช้ในประเทศยุโรปพร้อมทั่วกันไปในคฤสตศักราช ๑๕๘๒ แต่ได้ใช้เปลี่ยนอย่างเก่ามาโดยลำดับเวลาที่ละประเทศ ในที่สุดประเทศอังกฤษจึงได้ประกาศใช้ในคฤสตศักราช ๑๗๕๒ ฤาเมื่อพระพุทธศักราช ๒๒๙๕ นั้น ในประจุบันการนี้ ปฏิทินอย่างใหม่ได้ใช้อยู่ในประเทศที่รุ่งเรืองแล้วทุกประเทศ เว้นไว้แต่ประเทศรัสเซียประเทศเดียวที่ใช้ปฏิทินอยู่อย่างเก่า
อนึ่งทรงพระราชดำริห์เหนว่า ปีรัตนโกสินทรศกที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เปนการสดวกดีสำหรับใช้ในการประจุบันแลอนาคตได้แล้ว แต่การในอดีตภาคนั้น ถ้าจะบังคับให้ใช้ก็จะกระทำให้เข้าใจยากอยู่ที่จะต้องนับปีทวนถอยหลังเปนปฏิโลมเรียกว่าก่อนรัตนโกสินทรศก แลทรงพระราชดำริห์เหนว่าพระพุทธศักราชนั้น ได้เคยใช้ในราชการสำคัญๆมามิได้ขาด ดังเช่นมีในประกาศเปนบาญพแนกราชการสำคัญ เปนแต่ยังหาได้บังคับให้ใช้ในราชการทั่วไปไม่ ถ้าจะให้ใช้พระพุทธศักราช แทนปีรัตนโกสินทรศกแล้ว ก็จะเปนการสดวกแก่การอดีตในพงษาวดารของกรุงสยามมากยิ่งขึ้น
แลได้โปรดเกล้า า ให้คำนวนสอบสวนดูดวงพระชาตาของสมเดจพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งสมเดจพระบรมอัยกาธิราช พระบาทสมเดจพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า า ให้โหรคำนวนไว้ สำหรับใช้จารึกแผ่นสิลาบรรจุพระเจดีย์ มีฉบับอยู่ในหอพระสุราลัยพิมานในพระบรมมหาราชวัง แลที่กรมราชบัณฑิตย์นั้นก็ได้ความว่า ได้กระทำไว้ตามเกณฑ์เลขซึ่งเปนหลักในคัมภีร์สุริยาตร์ แลใช้ศักราชซึ่งพระเจ้าชนาธิปราช (อัญชน)* พระอัยกาของสมเดจพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งไว้เมื่อศักราชกลียุคได้ ๒๔๑๑ ฤาก่อนพระพุทธศักราช ๑๔๗ ปี วันประสูตรวันตรัสรู้แลวันปรินิพพาน ทั้งสามดวงพระชาตานี้ ตกอยู่ในเดือนเมษายน ตามปฏิทินทั้งอย่างเก่าแลอย่างใหม่นั้นทั้งสิ้น แปลกกันแต่เพียงวันที่มีกำหนดต่างๆ กันเท่านั้น ควรนับว่าเปนกาลกำหนดอันสมควรที่จะถือว่า พระพุทธศักราช ซึ่งตั้งต้นแต่ปีปรินิพพานนั้น ตั้งต้นปีในเดือนเมษายนได้ถูกต้องดีแล้ว
เพราะเหตุทั้งปวงนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า า ให้ใช้พระพุทธศักราช ในราชการทั้งปวงทั่วไป แทนรัตนโกสินทรศก ซึ่งกล่าวไว้ใน ข้อ ๓ ตามประกาศลงวันพฤหัสบดี เดือนสี่ แรมสิบสองค่ำ ปีชวดสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๕๐ เพราะฉนั้นปีรัตนโกสินทรศกเท่าใด บวก ๒๓๒๔ เข้าแล้วก็เปนปีพระพุทธศักราชเท่านั้น แลกำหนดปีอธิกสุร์ทินที่กล่าวไว้สำหรับกับปีรัตนโกสินทรศกในข้อ ๔ นั้น เมื่อใช้เปนพระพุทธศักราชแล้วให้ ลบ ๑๔๒ ฤาบวก ๒๕๘ อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้เหมือนกัน เมื่อลบฤาบวกแล้วเป็นจำนวนเลขเท่าไร เอาเลข ๔ หารได้ขาดตัวปีใด ปีนั้นเปนอธิกสุร์ทินตามปฏิทินอย่างเก่าสำหรับการในอดีตภาคทั้งสิ้น แต่ส่วนปฏิทินอย่างใหม่ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ให้ลบฤาบวกแลเอาเลข ๔ หาร เหมือนอย่างว่ามาแล้วนี้ เว้นแต่ปีแม้ว่า ๔ หารขาดตัวได้แล้ว แต่ว่าปีนั้นเอา ๔๐๐ หารไม่ขาดตัว จะมีเศษร้อยหนึ่ง ฤาสองร้อย ฤาสามร้อยก็ดี ปีทั้งสามอย่างนี้เปนปีปรกติสุร์ทิน ต่อเมื่อ ๔๐๐ หารขาดตัวด้วยแล้วจึงเปนปีอธิกสุร์ทิน นอกจากกำหนดปีที่กล่าวมานี้แล้ว ส่วนวันแลเดือนนั้นให้ใช้ตามประกาศเก่าที่อ้างมาข้างต้นนี้ทุกประการ
หมายเหตุ
- ยังคงเขียนและสะกดคำตามต้นฉบับเอกสารจดหมายเหตุ
- พระนามของพระอัยกาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ในหนังสือพระปฐมสมโพธิ เรียกว่า พระเจ้าชนาธิปราช ในหนังสือมหาวงษ์ เรียกว่า พระเจ้าอัญชน
ที่มา : ร.6 รล 2/8 ประกาศเปลี่ยนรัตนโกสินทรศกใช้พุทธศักราช