#เรื่องเล่าจากบันทึกเหตุการณ์ : การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน
เผยแพร่เมื่อ: 20 มี.ค. 67จำนวนผู้เข้าชม:908

 

ไม้พาย

อุปกรณ์สำคัญต่อจากเขียงฝึก คือ ไม้พาย ไม้พายที่ใช้ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. พายใบข้าว มีลักษณะใบพายที่เรียวยาวเหมือนใบต้นข้าว ได้แก่ พายทองใช้สำหรับเรือพระที่นั่ง 4 ลำ มีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ พายเงินใช้สำหรับเรือรูปสัตว์และเรือคู่ชัก ระยะกินน้ำน้อยกว่าพายใบขนุน เน้นความสวยงามของท่วงท่าที่ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี


พายใบข้าวใช้สำหรับเรือพระที่นั่ง ซึ่งใบพายมีสีทองและด้ามพายมีสีแดง


การสาธิตการพายเรือพระราชพิธี ในพิธีเปิดการฝึกครูฝึกฝีพายเรือพระราชพิธี (นายเรือ นายท้าย)
ณ แผนกเรือราชพิธี  กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567

2. พายใบขนุน มีลักษณะใบพายกลมป้อมเหมือนใบขนุน ใบพายจะใหญ่กว่า ได้แก่ พายดำหรือพายน้ำมัน สาเหตุที่เรียกว่าพายน้ำมัน เนื่องจากพายทาด้วยสีน้ำมันสีดำ ใช้สำหรับเรือดั้ง เรือแซง เรือแตงโม เรืออีเหลือง เรือตำรวจ เรือทองขวานฟ้า เรือทองบ้าบิ่น เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ ระยะกินน้ำเยอะกว่าพายใบข้าว


พายใบขนุน เป็นพายน้ำมันที่มีสีดำ


การฝึกซ้อมครูฝึกฝีพายเรือพระราชพิธี (นายเรือ นายท้าย) ในบ่อพักเรือ
ณ แผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ

ส่วนสำคัญของไม้พาย ประกอบด้วย
1. ใบพาย คือ ส่วนที่ใช้พุ้ยน้ำเพื่อทำให้เรือเคลื่อนที่ สันพายมี 2 ด้าน สันพายด้านหน้าและสันพายด้านหลัง

2. คอพาย คือ ส่วนที่เชื่อมระหว่างใบกับด้าม

3. ด้ามพาย คือ ส่วนด้ามไม้กลึงที่ไว้จับ

 

การจับพายต้องมีระยะที่ถูกต้องและเหมาะสม ระยะการจับพายของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน โดยวิธีวัด คือ นำสันมือข้างใดข้างหนึ่งจับพายให้เสมอกับปลายสุดของด้ามพาย นำมาทาบกับกึ่งกลางหน้าอก จากนั้น เหยียดแขนอีกข้างไปด้านข้างจนสุด ระยะที่อยู่ระหว่างนิ้วชี้และนิ้วโป้ง คือ ระยะจับด้ามพายที่เหมาะสม เรียกระยะการจับพายระหว่างมือทั้งสองข้างนี้ว่า “วงพาย”


การวัดระยะวงพาย ซึ่งส่งผลต่อท่วงท่าที่ถูกต้องและงดงามในการพายเรือพระราชพิธี

วิธีการวางพายที่ถูกต้องบนกระทง ฝีพายวางพายบนเขียงโดยระวังอย่าให้เกิดเสียงดัง ให้ปลายด้ามพายชิดสะโพก หันไปทางท้ายเขียงและให้ปลายด้ามพายโผล่ไปทางด้านหลังของกระทงที่นั่งประมาณ 1 คืบ ใบพายวางราบกับกระทงหน้าหันไปทางหัวเขียง เฉียงเข้าหาแนวกึ่งกลาง ปลายใบพายห่างจากไม้ทับกระทงประมาณ 1 คืบ


วิธีการวางพายที่ถูกต้องบนกระทง ซึ่งในภาพเป็นพายใบข้าวที่ใช้ในการฝึกกำลังพลฝีพายบนเขียงฝึก

เรียบเรียงโดย นางสาวปริม ชัยเพชร นักจดหมายเหตุชำนาญการ