เฉลิมพระราชมณเฑียรพระที่นั่งอนันตสมาคม
เผยแพร่เมื่อ: 16 ม.ค. 67จำนวนผู้เข้าชม:1741

เฉลิมพระราชมณเฑียรพระที่นั่งอนันตสมาคม

พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นพระราชมณเฑียร (ที่ประทับ) สำคัญของไทยซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก โดยนอกจากจะมีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมแล้ว ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ด้วยเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี รัฐพิธี และจัดการประชุมสำคัญต่าง ๆ อาทิ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การประชุมรัฐสภา ประชุมซีอาโต้ (SEATO)

แรกที พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นชื่อพระที่นั่งองค์หนึ่งในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระมหามณเฑียร พระที่นั่ง พระตำหนัก พระพิมาน ตลอดจนหอต่าง ๆ คล้องเนื่องกันไว้ ดังนี้ ไชยชุมพล - ภูวดลทัศไนย - สุทไธสวริย์ (สุทไธสวรรย์) - อนันตสมาคม - บรมพิมาน - นงคราญสโมสร - จันทรทิพโยภาศ - ภานุมาศจำรูญ - มูลมณเฑียร - เสถียรธรรมปริตร - ราชฤทธิรุ่งโรจ - โภชนลินลาศ - ประพาศพิพิธพรรณ์

เมื่อพระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งเคยใช้เป็นท้องพระโรงเสด็จออกองค์เดิมนี้ชำรุดทรุดโทรมผุพังไป อีกทั้งพื้นที่ในพระบรมมหาราชวังเริ่มคับแคบ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริจะสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่บริเวณวังสวนดุสิต และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระที่นั่งที่สร้างขึ้นแทนว่า พระที่นั่งอนันตสมาคม ตามเดิมเพื่อ “รักษาไม่ให้พระที่นั่งซึ่งเป็นที่สำคัญปรากฏนามมาแต่ก่อนสูญเสีย” ต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์ก่อรากพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นวันเดียวกันงานพิธีรัชมังคลาภิเษกสมโภชสิริราชสมบัติครบ 40 ปี

การก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรพระที่นั่งอนันตสมาคม ระหว่างวันที่ 7 - 11 มกราคม พุทธศักราช 2459 ต่อเนื่องกับงานพระราชพิธีฉลองและเฉลิมพระชนมพรรษาในมหามงคลสมัยทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบปีมะโรงนักษัตร

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถศึกษาค้นคว้าภาพการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมและพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรพระที่นั่งอนันตสมาคมเพิ่มเติมได้จากเอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุ ประเภท ภาพอัลบั้ม ชุดหอพระสมุดวชิรญาณ รหัสเอกสาร ภอ 003 หวญ. 75 ภาพการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม และ ภอ 003 หวญ. 84 ภาพการเฉลิมพระราชมณเฑียรพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต

 

เรียบเรียงโดย นางสาวพุธิตา ขำบุญลือ นักจดหมายเหตุชำนาญการ

----------------------------------

บรรณานุกรม

ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา.  พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4.  พิมพ์ครั้งที่ 6.  กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2548.

นัยนา  แย้มสาขา.  “ภาพเก่า - เล่าอดีต : พระที่นั่งอนันตสมาคม.”  ศิลปากร.  48, 5 (กันยายน-ตุลาคม 2548): 80-93.

บุษกร  ลิมจิตติ.  “งานมัณฑนศิลป์แบบพระราชนิยมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนที่ 2 พระที่นั่งอนันตสมาคมในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์.”  ศิลปากร.  57, 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2557): 19-25.

“ประกาศกระทรวงวัง ให้เรียกนามพระที่นั่งซึ่งจะสร้างขึ้นใหม่ที่วังสวนดุสิตว่า พระที่นั่งอนันตสมาคม” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 24 หน้า 1321 วันที่ 8 มีนาคม 126

สุภาพ  กันธะกิจ.  “ภาพเก่า - เล่าอดีต : พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรพระที่นั่งอนันตสมาคม.”  ศิลปากร.  52, 5 (กันยายน-ตุลาคม 2552): 82-97.

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภ.001 หวญ 12/14 ภาพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ฉายพระรูปพร้อมด้วยพระอนุชา บริเวณลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพอัลบั้มชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภอ 003 หวญ. 75 ภาพการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม

         สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพอัลบั้มชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภอ 003 หวญ. 84 ภาพการเฉลิมพระราชมณเฑียรพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวัง
         ดุสิต

รหัสเอกสาร ภ 001 หวญ 12/14
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ฉายพระรูปพร้อมด้วยพระอนุชาบริเวณลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม (รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

รหัสเอกสาร ภอ 003 หวญ. 75/1
ภาพแสดงการทดลองน้ำหนักราก “กอมแปร๊สโซล” (Compressole)

รหัสเอกสาร ภอ 003 หวญ. 75/3
ผังพื้นชั้น 1 ของพระที่นั่งอนันตสมาคม

รหัสเอกสาร ภอ 003 หวญ. 75/2
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางศิลาฤกษ์ก่อรากพระที่นั่งอนันตสมาคม

รหัสเอกสาร ภอ 003 หวญ. 75/49
คณะช่างก่อสร้างชาวไทยและอิตาลี ในวันวางศิลาฤกษ์

รหัสเอกสาร ภอ 003 หวญ. 75
การก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม

รหัสเอกสาร ภอ 003 หวญ. 75/48
พระที่นั่งอนันตสมาคมด้านใต้

รหัสภาพ ภอ 003 หวญ. 84
การเฉลิมพระราชมณเฑียรพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต