โรคไข้ทรพิษ
เผยแพร่เมื่อ: 12 พ.ค. 63จำนวนผู้เข้าชม:56187

โรคไข้ทรพิษ

หากย้อนกลับไปในอดีต นอกจากโรคระบาดที่เราคุ้นเคย เช่น โรคอหิวาตกโรค กาฬโรค กามโรค ไข้หวัดใหญ่ โรคเรื้อน โรคคุดทะราด ยังพบว่ามีโรคระบาดอีกชนิดหนึ่งที่น่ากลัว นั่นคือ โรคไข้ทรพิษ

โรคไข้ทรพิษ หรือโรคฝีดาษ (Smallpox) เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสวาริโอลา ซึ่งสามารถติดต่อจากคนสู่คน โดยจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ป่วย นอกจากนี้การสัมผัสกับผื่นหรือตุ่มน้ำของผู้ป่วยตรง ๆ โดยไม่มีการป้องกันก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้

อาการของโรคเมื่อได้รับเชื้อ จะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลียอย่างรุนแรง หลังจากนั้นจะเริ่มมีผื่นสีแดงเรียบขึ้นทั่วร่างกาย ต่อมาผื่นสีแดงจะค่อย ๆ นูนขึ้นกลายเป็นตุ่มน้ำและตุ่มหนองตามลำดับ หากผู้ป่วยไม่มีอาการที่รุนแรง ก็สามารถหายเป็นปกติได้ แต่หากมีภาวะแทรกซ้อนก็จะถึงขั้นสูญเสียชีวิตในที่สุด

สถานการณ์โรคไข้ทรพิษในประเทศไทย

พุทธศักราช 2449 กระทรวงธรรมการได้จัดตั้งกองทำพันธุ์หนองสำหรับปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษขึ้นที่พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ซึ่งทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตพันธุ์หนองได้เอง จึงไม่ต้องนำเข้าพันธุ์หนองมาจากต่างประเทศ ทำให้พันธุ์หนองมีราคาถูกกว่าเดิมเป็นอันมาก พร้อมประกาศให้ทราบทั่วทั้งประเทศว่าสามารถสั่งซื้อพันธุ์หนองได้ที่พระปฐมเจดีย์ หรือที่โอสถศาลารัฐบาล ตลอดจนมีการขอเรี่ยไรเงินจากข้าราชการและผู้มีจิตศรัทธาเพื่อนำไปซื้อพันธุ์หนองมาปลูกฝีป้องกันโรคไข้ทรพิษให้ประชาชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

พุทธศักราช 2456 กระทรวงมหาดไทยได้ออกตราพระราชบัญญัติจัดการป้องกันไข้ทรพิษ โดยมีข้อกำหนดว่าราษฎรมณฑลใดได้รับการปลูกฝีมีจำนวนเกินกว่าครึ่งของจำนวนสำมะโนครัวแล้ว จะได้รับการตราพระราชบัญญัติจัดการป้องกันไข้ทรพิษให้กับมณฑลนั้น ๆ ซึ่งเป็นการชักจูงให้ประชาชนสมัครใจเข้ามาปลูกฝีและเห็นผลของการปลูกฝีอีกด้วย

พุทธศักราช 2459 – 2467 กระทรวงนครบาลได้ออกประกาศเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาด ของโรคไข้ทรพิษออกมาหลายฉบับ เช่น การเดินทางจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยในการเดินทางทางเรือ มีการออกประกาศโดยกระทรวงนครบาล แผนกป้องกันโรคร้าย ในประกาศมีเนื้อหาคือ ให้เรือทุกลำเมื่อเข้ามาถึงในน่านน้ำสยาม ต้องแวะจอดที่ด่านตรวจป้องกันโรคร้าย เพื่อให้เจ้าพนักงานแพทย์ตรวจและให้อยู่ในจุดตรวจจนกว่าเจ้าพนักงานแพทย์จะอนุญาตให้เข้ามาได้ และจะต้องจอดอยู่ที่จุดตรวจนั้นจนกว่าจะครบกำหนด 14 วันเต็ม และให้ทุกคนที่มาในเรือลำนั้นต้องได้รับการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษก่อน หรือถ้ามีการปลูกฝีไข้ทรพิษมาแล้ว ต้องมีหลักฐานยืนยันเพื่อแสดงให้เจ้าพนักงานทราบ จึงจะอนุญาตให้เรือลำนั้นเข้ามาได้ ถ้ามีผู้คนในเรือเป็นไข้ทรพิษ เจ้าพนักงานแพทย์มีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้ปฏิบัติหรือจัดการได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้โรคระบาดแพร่กระจาย การประกาศเหล่านี้มีการประกาศใช้ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศที่มีการติดต่อกับประเทศไทย เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ไซ่ง่อน เมื่อสถานการณ์ปกติแล้วก็จะดำเนินการยกเลิกประกาศดังกล่าว แต่เมื่อมีภาวะการแพร่ระบาดเกิดขึ้นอีกก็จะประกาศอีกครั้งหนึ่ง

การแพร่ระบาดของโรคไข้ทรพิษที่ถือว่ามีการระบาดรุนแรงในไทย คือช่วง พ.ศ. 2488 – 2489 โดยพ.ศ. 2488 มีผู้ป่วยไข้ทรพิษจำนวน 36,394 คน เสียชีวิต 8,606 คน และ พ.ศ. 2489 มีผู้ป่วยไข้ทรพิษจำนวน 26,443 คน เสียชีวิต 7,015 คน และพบว่ามีการแพร่ระบาดเกือบทั่วประเทศ ซึ่งกรมสาธารณสุขได้มีแนวทางป้องกันและแก้ไขการแพร่ระบาดของไข้ทรพิษอย่างจริงจัง เพราะไม่เพียงแต่ในประเทศไทยที่มีการแพร่ระบาดของไข้ทรพิษ แต่ในต่างประเทศรอบ ๆ ประเทศไทยก็เกิดการแพร่ระบาดเช่นกัน

การออกประกาศเรื่องป้องกันโรคติดต่ออันตรายจากต่างประเทศ

วันที่ 13 สิงหาคม 2489 กระทรวงการสาธารณสุขได้ตราประกาศเรื่องป้องกันโรคติดต่ออันตรายจากต่างประเทศ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 63 ตอน 63 ลงวันที่ 24 กันยายน 2489 การที่ประกาศเรื่องนี้ เนื่องจากมีอหิวาตกโรคและไข้ทรพิษระบาดขึ้นในฮ่องกง ซัวเถา กวางตุ้ง และเซี่ยงไฮ้ โดยประกาศให้เรือทุกลำที่จะเข้าเขตท่าเรือกรุงเทพฯ แวะจอดที่ด่านกักตรวจโรค ณ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อให้เจ้าพนักงานทำการตรวจ และให้บุคคลที่เดินทางจากเมืองท่าดังกล่าวเข้าประเทศไทยโดยมีใบสำคัญรับรองว่าได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคแล้วไม่น้อยกว่า 6 วัน และไม่เกิน 6 เดือน สำหรับการป้องกันไข้ทรพิษ ต้องมีใบสำคัญรับรองว่าได้รับการปลูกฝีแล้วไม่น้อยกว่า 12 วัน และไม่เกิน 1 ปี

การควบคุมและป้องกันโรคติดต่ออันตราย

การควบคุมและป้องกันโรคไข้ทรพิษในส่วนเขตเทศบาลนครกรุงเทพ

การป้องกันตามปกติ กวดขันในการตรวจศพ ถ้าสงสัยว่าศพจะตายด้วยไข้ทรพิษให้แพทย์ไปตรวจทันที นอกจากนี้ได้ดำเนินการ คือ

(1) ทำการโฆษณา เช่น ปิดภาพโฆษณาเรื่องการปลูกฝีเด็ก คำแถลงการณ์เรื่องไข้ทรพิษ เพื่อให้ประชาชนทราบและร่วมมือ ประกาศให้ชาวจีนทราบโดยเฉพาะสมาคมจีนและสมาคมจีนแต้จิ๋ว ช่วยเหลือในการนี้

(2) ระดมทำการปลูกฝี เช่น ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการปลูกฝีตามสถานที่ราชการ สำนักงาน และบริษัท ตลอดจนบ้านเรือนเอกชน โรงเรียนต่าง ๆ และตามตลาดที่ชุมชนต่าง ๆ

(3) ส่งพันธุ์หนองฝีให้โรงพยาบาลจีนต่าง ๆ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลวชิระ สถานีอนามัย โรงพยาบาลเทศบาล และสุขศาลา ตลอดจนสถานพยาบาลต่าง ๆ ให้ช่วยทำการปลูกฝีแก่ประชาชน โดยเฉพาะเรือนจำกลางคลองเปรม ปลูกฝีให้แก่นักโทษ

การป้องกันเฉพาะท้องที่เกิดไข้ทรพิษ คือส่งนายแพทย์หรือผู้ช่วยแพทย์ไปสอบสวน ณ ตำบลที่มีผู้ป่วย นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเทศบาล หรือโรงพยาบาลเอกเทศ จัดการปลูกฝีคนในบ้านผู้ป่วยและบ้านใกล้เคียง ปิดภาพโฆษณาเรื่อง “ตำบลนี้มีฝีดาษ” ในบริเวณที่เกิดไข้ทรพิษ และให้ผู้ช่วยแพทย์เข้าไปเยี่ยม และตรวจค้นหาผู้ป่วยรายใหม่เสมอ ๆ

การควบคุมและป้องกันโรคไข้ทรพิษในต่างจังหวัด

กองควบคุมโรคติดต่อ ได้โอนเงินค่าบำเหน็จปลูกฝีไปตั้งจ่ายให้จังหวัดต่าง ๆ 67 จังหวัด เพื่อจ้างแพทย์ประจำตำบลระดมทำการปลูกฝีช่วยแรงพนักงานสาธารณสุข รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 40,600 บาท นอกนั้นได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ของกรมกองควบคุมโรคติดต่อ ที่ได้ส่งไปทำการป้องกันอหิวาตกโรค ช่วยทำการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษอีกด้วย

การเผยแพร่สุขศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันโรค

การสุขศึกษาป้องกันโรคไข้ทรพิษ คือได้จัดหน่วยออกเป็น 2 หน่วย คือ

(1) ฝ่ายบก ได้จัดรถเป็นพาหนะ โดยร่วมมือกับเทศบาลนครกรุงเทพทำการในเขตเทศบาล

(2) ฝ่ายเรือ ได้แยกเป็นหน่วยย่อยอีกหลายหน่วย ทางกองควบคุมโรคติดต่อได้ส่งผู้ช่วยแพทย์มาสมทบ ตามท้องที่ริมน้ำจังหวัดธนบุรี นนทบุรี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ

การอนามัยโรงเรียน

ดำเนินการป้องกันโรคนักเรียน โดยให้การสุขศึกษาและป้องกันไข้ทรพิษ ซึ่งมีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ ตามโรงเรียนในเขตพระนครและธนบุรีและยังกระจายไปตามโรงเรียนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและลพบุรีอีกด้วย

จากเอกสารจดหมายเหตุข้างต้นที่นำเสนอมานั้น สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการดำเนินงานเพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้ทรพิษที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทย อันสะท้อนให้เห็นถึงความพยายาม ความมุ่งมั่น ความร่วมมือขึ้น เพื่อขจัดสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคไข้ทรพิษ ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนภายในประเทศที่เกิดขึ้นให้หมดไป

ผู้เรียบเรียง: นางสาวพิมพร เอี่ยมจ้อย นักจดหมายเหตุชำนาญการ