คัมภีร์ใบลาน เรื่อง อุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) เก็บรักษาอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ (National Collection of Palm-Leaf Manuscripts of Phra That Phanom Chronicle) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก
เผยแพร่เมื่อ: 26 มิ.ย. 66จำนวนผู้เข้าชม:2017
 

วันที่ 21 พฤษภาคม 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 216 ณ องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส มีมติรับรองคัมภีร์ใบลาน เรื่อง อุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) เก็บรักษาอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ (National Collection of Palm-Leaf Manuscripts of Phra That Phanom Chronicle) เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก นับเป็นเอกสารของไทยชิ้นที่ 6 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก

คัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ เป็นหนังสือใบลานจารด้วยอักษรธรรมอีสาน ภาษาไทย และภาษาบาลี จำนวน 7 ผูก เป็นหนังสือต้นฉบับที่คัดจำลองเรื่องมาจากคัมภีร์ใบลานฉบับโบราณ มีหลักฐานปรากฏอยู่ในลานหน้าสุดท้ายว่าอาชญาเจ้าพระอุปราช พร้อมด้วยบุตร ภรรยา ให้สร้างขึ้นไว้เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ ปีจอ จัตวาศก จ.ศ. 1224 ตรงกับวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2405

คัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ จัดเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาฉบับพื้นถิ่นภาคอีสานที่ใช้สำนวนภาษาเป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาค จารด้วยอักษรธรรมอีสานที่มีทำนองการแต่งเป็นภาษาโบราณแบบเฉพาะของท้องถิ่น เกริ่นนำด้วยนิทานตำนานเมืองต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณริมฝั่งน้ำโขง อาทิ ตำนานเมืองหนองหาน นิทานเรื่องพระพาน อุรังคธาตุนิทาน เป็นต้น สาระสำคัญของเรื่องอยู่ที่อุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) เป็นการเล่าถึงประวัติสถานที่ มีบุคคลที่สมมติให้เป็นคนสำคัญ มีความรู้ ความสามารถ กล้าหาญ แกล้วกล้าในการศึกสงคราม ทำหน้าที่เป็นผู้นำที่มีจิตใจเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ต่อสู้ และชักจูงให้ผู้คนที่อยู่ภายใต้การปกครองมีความเชื่อมั่นและยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา ได้สร้างองค์พระธาตุขึ้นบรรจุพระอุรังคธาตุ เพื่อให้เป็นหลักชัยของชุมชน และบ้านเมือง

ความสำคัญของเอกสารสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมของชุมชนในท้องถิ่นที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังแสดงถึงบทประพันธ์ประเภทวรรณกรรมพื้นบ้าน ที่แฝงไว้ด้วยคติธรรม ความเชื่อของชุมชนในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ธรรมชาติ และความเอื้ออาทรต่อกันของคนในชุมชน

ปัจจุบันคัคัมภีร์ใบลาน เรื่อง อุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) เก็บรักษาไว้ที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ