กฎหมายตราสามดวง
ระดับการขึ้นทะเบียน: ระดับชาติเผยแพร่เมื่อ: 09 มี.ค. 66จำนวนผู้เข้าชม:2174
 

กฎหมายตราสามดวงเป็นหนังสือสมุดไทยขาว ปกหนังสือลงรักทึบ (สีดำ) มีจำนวน 41 เล่ม ทุกเล่มขนาดโดยเฉลี่ยกว้าง 11 เซนติเมตร ยาว 34.5 เซนติเมตร หนา 3.5 – 3.7 เซนติเมตร บนปกหนังสือเขียนชื่อเรื่องด้วยอักษรไทย ภาษาไทย เส้นทอง (เขียนตัวอักษรด้วยทอง) เนื้อเรื่องในเล่มเขียนด้วยอักษรไทย ภาษาไทย เส้นหมึกดำ ส่วนที่เป็นหัวข้อเรื่องเขียนด้วยอักษรขอม ภาษาบาลี หน้าต้น (หน้าแรกของหนังสือ) ที่เรียกว่าบานพะแนก (บานแพนก) มีข้อความบอกวัน เดือน ปี ที่เขียนเนื้อเรื่องในเล่ม ทั้งยังบอกชื่อผู้เขียน ผู้ตรวจทาน

เนื้อหารวบรวมเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายของไทยที่มีมาแต่สมัยอยุธยา ซึ่งได้ใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศมายาวนาน โดยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการชำระปรับปรุงเป็นบทกฎหมายต่าง ๆ ประมวลขึ้นเป็นกฎหมายฉบับใหม่ สำเร็จเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2348 เมื่อคัดลงสมุดแล้วประทับตราชาด (สีแดง) 3 ดวงไว้ที่ปกหนังสือทุกเล่ม คือ ตราพระราชสีห์ ตราพระคชสีห์ และตราบัวแก้ว ใช้ชื่อว่า กฎหมายตราสามดวง

กฎหมายตราสามดวง เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของไทย ถือได้ว่าเป็นหลักฐานชั้นต้นอันแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางนิติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ของไทยในอดีต บทบัญญัติและบทมาตราในกฎหมายฉบับต่าง ๆ ที่ประกอบอยู่ในกฎหมายตราสามดวง แสดงให้เห็นถึงสภาพสังคม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี สภาพการเมือง และสถาบันที่เป็นหลักของบ้านเมืองมีอิทธิพลต่อสังคมในสมัยโบราณ วิธีคิดของผู้ใช้อำนาจปกครอง การยอมรับนับถือของผู้อยู่ใต้ปกครอง การป้องกัน ปราบปราม และลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย การให้รางวัลหรือปูนบำเหน็จแก่ผู้ปฏิบัติตาม หรือกระทำความชอบให้แก่บ้านเมือง เป็นต้น

ได้รับการขึ้นทะเบียน มรดกความทรงจำประเทศไทย วันที่ 25/1/2561