เอกสารส่วนบุคคล Mr.Emile Eisenhofer(ค.ศ.1879 – 1962) วิศวกรชาวเยอรมันผู้คุมการเจาะอุโมงค์ขุนตาน
ระดับการขึ้นทะเบียน: ระดับท้องถิ่นเผยแพร่เมื่อ: 09 มี.ค. 66จำนวนผู้เข้าชม:1825
 

เอกสารส่วนบุคคลของ มร.เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ (ค.ศ. 1879-1962) วิศวกรชาวเยอรมันผู้คุมการสร้างทางรถไฟสายเหนือโดยเฉพาะช่วงเจาะอุโมงค์ขุนตาน ต่อมาเมื่อสยามประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ตั้งแต่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 ชาวเยอรมันในสยามจึงกลายเป็นชนชาติศัตรูถูกทางราชการจับกุมคุมขัง โดยมร.เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ วิศวกรชาวเยอรมันถูกคุมขังในกรุงเทพฯ 6 เดือนและส่งไปคุมขังที่อินเดีย 2 ปี มีฐานะเป็น Prisoners of War ช่วง 2 ปีที่ถูกคุมขังในอินเดีย มร.เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ได้ส่งจดหมายและโปสการ์ด จ่าหน้าซองและแผ่นโปสการ์ดว่า Prisoners of War,Postcard ส่งถึงนาง ชุบ ติ๊นเติมทรัพย์ (พ.ศ. 2438-2520) ภริยาชาวไทย เท่าที่เหลือในปัจจุบันเป็น Prisoners of War,Postcard ปี ค.ศ.1918 จำนวน 10 ใบ และ Prisoners of War,Postcard ปี ค.ศ. 1919 จำนวน 7 ใบ จดหมาย ปี ค.ศ. 1918 จำนวน 2 ฉบับ (สำรวจเมื่อ 21 ธ.ค. 2562) หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติ มร.เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ (ค.ศ. 1879-1962) ถูกส่งกลับเยอรมัน จน พ.ศ.2472 เขาได้ขอกลับประเทศสยาม ใช้ชีวิตบั้นปลายกับครอบครัวภริยาชาวไทย ซึ่งมีลูก 3 คนและภริยาชาวเยอรมันซึ่งพบรักในช่วงถูกคุมขังที่อินเดีย โดย มร.เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ มีจดหมายถึงลูก โดยเฉพาะลูกชายคือ เอกสารส่วนบุคคล Mr.Emile Eisenhofer วิศวกรชาวเยอรมันขุดอุโมงค์ขุนตาล จังหวัดลำปาง นายมุขคิรี (อ่านว่ามุขรี ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นนายเสรี) (พ.ศ.2483 เปลี่ยนนามสกุลจาก ไอเซนโฮเฟอร์ เป็น อัยยเสน) ข้าราชการกรมโยธาธิการหัวหน้าทีมงานขุดเจาะบ่อนํ้ามันอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบัน นางปรียา อัยยเสน (เกิด พ.ศ. 2495) ลูกสาวของนายเสรี อัยยเสน ได้เก็บรักษาไว้ทุกฉบับพร้อมภาพถ่าย เอกสารชุดนี้จึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชีวิตของ มร.เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ (ค.ศ.1879-1962)วิศวกรชาวเยอรมันผู้คุมการเจาะอุโมงค์ขุนตานช่วงถูกคุมขังในฐานะชนชาติศัตูร เอกสารชุดนี้ประกอบด้วย (1) Postcard เป็นหลักฐานระหว่างประเทศ ตามแบบฟอร์มของ Prisoners of War,Postcard ซึ่งตีพิมพ์จำนวนมากกำหนดให้ทำเครื่องหมายในประเด็นที่ต้องการสื่อสาร ข้อความใดไม่ต้องการสื่อสารก็ขีดออก จึงไม่ถือเป็นหนึ่งเดียวในโลก โดยอาจมีในอีกหลายครอบครัวของชาวเยอรมัน ออสเตรียฮังการีที่มาทำงานในประเทศสยามช่วงรัชกาลที่ 6 และถูกจับกุมในฐานะชนชาติศัตรู แต่เป็นเอกสารที่ทำให้ทราบเรื่องราวระหว่างประเทศช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918) เช่นชื่อค่ายเชลยศึกในอินเดียอยู่ที่เมืองอาเหม็ดนากา ( Ahmednager) รัฐมหาราษฎร์ (Maharashtra) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย และประเทศที่เป็นสื่อกลางในการส่งจดหมายคือ ประเทศเนเธอร์แลนด์ เอกสารที่ส่งทุกฉบับต้องผ่านทาง Royal Netherland Legation และเป็นเอกสารสำคัญสำหรับครอบครัวไอเซนโฮเฟอร์ (พ.ศ.2483 เปลี่ยนนามสกุลจาก ไอเซนโฮเฟอร์ เป็น อัยยเสน) เพราะเป็นการแจ้งตามข้อความที่ระบุใน Prisoners of War,Postcard ว่า (1)ฉันค่อนข้างสบายดี (2)จดหมายที่จะส่งไปเมื่อมีโอกาส (3)ฉันไม่ได้รับจดหมายจากคุณนานแล้ว โดยตัดข้อความที่ไม่ต้องการส่งทิ้ง (2) จดหมายส่วนตัว เช่นจดหมายฉบับวันที่ 25/2/1918 ทำให้ทราบว่า 1) มร.เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์และน้องชายในฐานะเชลยที่เป็นชนชาติศัตรูออกเดินทางจากสยาม ไปประเทศอินเดียเมื่อ ประมาณเดือนกุมภาพันธุ์ ค.ศ.1918 โดยเรือ “เด่นสมุทร” ประมาณ 26 /2/1918 จะถึงค่ายที่เมืองอาเหม็ดนากา ( Ahmednager) รัฐมหาราษฎร์(Maharashtra) ประเทศอินเดีย 2) ระหว่างเขาถูกจับกุมได้ฝากครอบครัวไว้กับมาดามแจนและปิแอร์ เครน และ “นายห้าง” เป็นผู้ดูแล ต้องการความช่วยเหลือให้ติดต่อ “นายห้าง” และเชื่อฟังคำแนะนำของนายห้าง 3) ห้ามไม่ให้นำลูกสาวออกจากโรงเรียน ให้ลูกสาวได้เรียนต่อไป 4) ช่วงถูกจับกุมได้นำหนังสือของพระยาวิสุทธิ์ติดตัวไปอ่านด้วย ได้ฝากผู้คุมค่ายนำคืนพระยาวิสูตรฯ แล้ว ช่วยติดตามด้วยว่าพระยาวิสูตรฯ ได้รับหนังสือหรือยัง 5) ให้เขียนจดหมายรายงานสภาพความเป็นอยู่ให้เขาได้ทราบด้วย และแจ้งที่อยู่ในกรุงเทพฯที่เขาจะส่ง จดหมายถึงได้ เอกสารทั้งสองประเภท เป็นหลักฐานของความรักความผูกพันต่อครอบครัวของวิศวกรชาวเยอรมัน ผู้คุมการเจาะอุโมงค์ขุนตาน เป็นหนทางเดียวที่เชื่อมโยงสายใยรักระหว่างประเทศ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งทายาทได้เก็บรักษาไว้

ได้รับการขึ้นทะเบียน มรดกความทรงจำท้องถิ่น วันที่ 28/6/2564

หน่วยงาน/บุคคล เจ้าของเอกสาร : รศ.สมโชติ อ๋องสกุล