จดหมายเหตุบอกเล่า : การแสดงธรรมเทศนาของท่านพุทธทาสภิกขุ เนื่องในวันอาสาฬหบูชา พ.ศ.2502
เผยแพร่เมื่อ: 24 ก.ค. 64จำนวนผู้เข้าชม:5186
จดหมายเหตุบอกเล่า : การแสดงธรรมเทศนาของท่านพุทธทาสภิกขุ เนื่องในวันอาสาฬหบูชา พ.ศ.2502
คำประกาศงานเฉลิมฉลอง 100 ปี ชาตกาลพุทธทาสภิกขุ ขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า
“พุทธทาสภิกขุ เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพทั่วโลก ท่านเป็นผู้บุกเบิกในการส่งเสริมความเข้าใจระหว่างศาสนา โดยใช้การสานเสวนาระหว่างเหล่าศาสนิกต่างศรัทธา ท่านได้ละอารามที่เคยพำนัก และได้ค้นพบแนวทางในการผสานพุทธศาสนาในโลกให้สอดคล้องกับแก่นธรรมคำสอนดั้งเดิมอีกครั้ง ท่านเน้นย้ำถึงหลักการอิงอาศัยกันและกันของสรรพสิ่ง ทำให้ท่านเป็นผู้นำของความคิดเชิงนิเวศวิทยา และผู้ประกาศจุดยืนเพื่อสันติภาพระหว่างประชาชาติทั้งหลาย งานเขียนของท่าน ซึ่งได้รับการแปลและตีพิมพ์ในหลายภาษา มีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อการฟื้นฟูวิธีคิดแนวพุทธขึ้นใหม่ ความคิดที่ท่านได้แสดงไว้ มิเพียงแต่จะสามารถชี้ทางให้กับประเทศไทยได้เท่านั้น หากยังรวมถึงสังคมทั้งปวง ที่กำลังพยายามสร้างสรรรค์สร้างระเบียบทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ อันเที่ยงธรรมและเป็นธรรมด้วย”
เนื่องในวันอาสาฬหบูชา พ.ศ.2564 จึงขอนำเสนอความตอนหนึ่งจากแถบบันทึกเสียงการแสดงธรรมเทศนาของพระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) หรือ พุทธทาสภิกขุ เนื่องในวันอาสาฬหบูชา พ.ศ.2502 ความว่า
“…การมีจิตใจอย่างมนุษย์ คือ การมีจิตใจสูงพอที่จะสำนึกถึงสิ่งต่าง ๆ ได้ตามที่ควรจะสำนึกแล้ว ก็มีหวังว่าจะรู้จักรสของพระธรรม หรือรู้จักกลิ่นหอมของพระธรรม หรือรู้จักคุณสมบัติอย่างอื่นของพระธรรม จนสามารถน้อมนำมาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจของตนให้เจริญงอกงามก้าวหน้า คือสูงขึ้นไปจากการท่วมทับของกิเลสและความทุกข์ได้โดยไม่ต้องสงสัยเลย เพราะฉะนั้นขอให้เราทุกคนประกอบหรือกระทำอาสาฬหบูชาด้วยการยกตนของตนขึ้นมาจากความตกต่ำในทำนองนั้น ให้สูงขึ้นมาในลักษณะที่เรียกว่า เอาชนะกิเลสและความทุกข์ได้ตามสมควรแต่สติปัญญาของตน ทำอย่างไรเสียก็ไม่มีทางที่จะถูกด่าว่าเป็นกบหรือเป็นสวะตะแกรงอีกต่อไป นับตั้งแต่การทำอาสาฬหบูชา อย่างน้อยคือวันนี้ จึงหวังว่าทุกคนจะได้นำความจริงข้อนี้ติดตัวไป คือติดไปในความจำ สำหรับไปคิดไปนึก ให้มีความรู้ความเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้นไป ผู้ไม่เผลอสติปล่อยตนให้ตกต่ำลงไปในปลักหนองของกิเลสและความทุกข์ มากเหมือนที่แล้วมา ค่อยๆ ถอนตนขึ้นมาได้โดยลำดับ จนเป็นผู้ที่พร้อมที่จะเอาชนะกิเลสและความทุกข์ คือ เป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทาที่ประกอบไปด้วยองค์ 8 ประการนั้น โดยสมบูรณ์อยู่ในตัว แล้วก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้พร้อมแล้วที่จะชนะกิเลสในความทุกข์จริงๆ ขอให้ทุกคนไปชำระหนทางของตน โดยแยกออกเป็นอย่างๆ แล้วชำระให้สะอาดทุกๆ อย่าง คือ ชำระสัมมาทิฐิให้สะอาด ชำระสัมมาสังกัปโปให้สะอาด ชำระสัมมาวาจาให้สะอาด เรื่อยไปเป็นลำดับจนกระทั่งถึงสัมมาสมาธิ…”
อ้างอิง
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. แถบบันทึกเสียงส่วนบุคคล ท่านพุทธทาสภิกขุ ถ.สบ.1.1.4/6 เรื่อง เทปบรรยายธรรม โดยท่านพุทธทาสภิกขุ วัดสวนโมกขพลาราม ชุด เทศน์ในพรรษา ม้วนที่ 6 พ.ศ.2502 เรื่องเทศน์อาสาฬหบูชา (พ.ศ.2502)
คณะอนุกรรมการจัดทำจดหมายเหตุงาน 100 ปี พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ อินฺทปญฺโญ) (2552). จดหมายเหตุงานเฉลิมฉลอง 100 ปี พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ อินฺทปญฺโญ). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2550.
ภาพ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพส่วนบุคคล นายระบิล บุนนาค ภ.002 สบ.2.3/36 การแสดงพระธรรมเทศนาสวนโมกขพลาราม 5 พ.ค.2509
#จดหมายเหตุ #จดหมายเหตุบอกเล่า