จดหมายเหตุบอกเล่า: บันทึกเรื่อง บุษบกซึ่งประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
เผยแพร่เมื่อ: 05 ก.ค. 64จำนวนผู้เข้าชม:2620

จดหมายเหตุบอกเล่า: บันทึกเรื่อง บุษบกซึ่งประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

บันทึกพระกระแสรับสั่งเรื่อง บุษบกซึ่งประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พ.ศ.2474 จดบันทึกโดย รองอำมาตย์โท สมบุญ โชติจิตร (ชื่อและยศในขณะนั้น)

เมื่อปีระกา พ.ศ.2428 กรมพระราชวังบวรมหาพิชัยชาญ ทิวงคต ประเพณีจัดการพระศพกรมพระราชวังบวรแต่ก่อนมา นับเป็นชั้นรองแต่พระบรมศพสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน แต่เมื่องานพระศพกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญมีเหตุขัดข้องหลายอย่าง ซึ่งจะไม่ยกอธิบายมาชี้แจง ขอกล่าวแต่ใจความว่า เจ้านายและบุคคลชั้นหนุ่มโดยมากไม่เห็นสมควรจะจัดการพระศพถึงชั้นกรมพระราชวังบวรแต่ก่อน แต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรงพระดำริเห็นว่าถึงจะมีเหตุอย่างใด เมื่อมีพระเกียรติยศเป็นกรมพระราชวังบวรอยู่ ก็ควรจะรักษาราชประเพณีทำการพระศพให้สมกับพระยศ เจ้านายและข้าราชการมีความเคารพรักใคร่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบฯ เป็นอย่างยิ่งอยู่ทั่วกัน แม้ไม่เห็นชอบด้วยพระดำริก็ต้องทำตาม จึงเป็นการที่ทำด้วยเกรงพระทัยสมเด็จกรมพระยาบำราบฯ มิใช่ทำด้วยเต็มใจศรัทธาด้วยกันทั้งนั้น แบบอย่างพระเมรุสมเด็จกรมพระยาบำราบฯ ก็ทรงคิดเอง จึงเอาแบบโบราณเป็นพระเมรุพื้นทอดหมอนกับแผ่นดิน และมีเมรุทองตั้งเบญจาพระโกศ แต่เมื่อถึงการสร้างพระเมรุนั้นที่สนามหลวง อันเป็นหน้าที่ของตำรวจ พวกเจ้ากรมปลัดกรมตำรวจก็ไม่แขงข้อทำงาน สมเด็จกรมพระยาบำราบฯ ทรงมานะเสด็จออกมาประทับเป็นประธานที่พระเมรุทุกๆ วัน ผิดกับงานพระเมรุอื่นที่เคยทำมาแต่ก่อนการจึงสำเร็จ ครั้นถึงการแห่พระศพออกพระเมรุ ไม่โปรดฯ พระราชทานราชรถและพระโกศทองใหญ่ สมเด็จกรมพระยาบำราบฯ ก็ทรงเอารถพระยกบุษบกเสีย ตั้งพระโกศทองน้อย (เจ้านายพวกฉันกระซิบเรียกกันว่า รถยักษ์เหมือนที่เขียนในวัดพระแก้ว) แม้จนการที่จะนุ่งขาวนุ่งดำ เจ้านายพวกฉันไม่ยอมนุ่งขาว ด้วยอ้างว่ากรมพระราชวังเป็นลูกน้อง ความทราบถึงสมเด็จกรมพระยาบำราบฯ โปรดให้ลงในหมายกรมวังว่า “แต่งพระองค์ตามควร” ว่าโดยย่อเป็นงานที่ทำโดยไม่เต็มใจของคนทั้งหลายมาก หากสำเร็จได้ด้วยสมเด็จกรมพระยาบำราบฯ

แต่เมื่องานพระศพกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเสร็จแล้วไม่ช้า สมเด็จกรมพระยาบำราบฯ ก็ประชวร กล่าวกันว่าเพราะชอกช้ำมาตั้งแต่ต้องทรมานพระองค์ออกไปนั่งกำกับงานพระเมรุทุกๆ วัน พอเริ่มประชวรท่านก็ตรัสบอกว่าไม่หาย เมื่อสมเด็จกรมพระยาบำราบฯ สิ้นพระชนม์ พระเมรุที่ท่านทรงสร้างสำหรับงานพระศพกรมพระราชวังบวรฯ ยังไม่ได้รื้อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้ตกแต่งพระเมรุนั้นเองให้งดงามสง่าผ่าเผยยิ่งกว่าเมื่อครั้งพระศพกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ คราวนี้ไม่ว่าเจ้าและขุนนางเต็มใจช่วยกันหมดจนไม่มีงานจะให้ทำ แต่มีการที่ต้องแก้ไขสำคัญอย่าง ๑ (อย่างหนึ่ง) คือ ต้องรื้อพระเมรุทอง ด้วยสูงเกินพระเกียรติยศ เพื่อจะแก้ไขมิให้ที่ตั้งพระโกศทองใหญ่ทรงพระศพสมเด็จกรมพระยาบำราบฯ ต่ำหลอนพระเมรุ จึงโปรดฯ ให้ทำบุษบกตั้งพระโกศบนชั้นเบญจาให้สูงพอไล่เรี่ยกับขนาดพระเมรุทอง บุษบกนี้เข้าใจว่ากรมหมื่นปราบปรปักษ์สร้าง เมื่อเสร็จงานพระเมรุสมเด็จกรมพระยาบำราบแล้ว จึงได้เอาบุษบกนั้นมารักษาไว้ในพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์แต่นั้นมา เวลานั้นกรมหมื่นพงศาดิศรมหิปเป็นผู้จัดการพิพิธภัณฑสถาน ทราบเรื่องนี้อยู่ตลอดเหมือนกัน

หมายเหตุ : คงการสะกดคำและวรรคตอนตามอย่างเอกสารจดหมายเหตุ

อ้างอิง

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนพระองค์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สบ. 2.24/44 เรื่อง บันทึกเรื่องบุษบกที่พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (7 ธ.ค. 2474)

ภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ (2) ภ 004 หวญ 1/10 ภาพพระพุทธสิหิงค์ที่พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ (วังหน้า) พ.ศ.2469

#จดหมายเหตุ #จดหมายเหตุบอกเล่า